เที่ยวปราสาท แห่งอีสาน ตามรอยอารยธรรมโบราณ
ปราสาทหินแห่งดินแดนอีสานตอนใต้ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศไทย กระจายอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ปราสาทหินที่สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงเหล่านี้ เป็นอิทธิพลจากอาณาจักรขอม ทีนับถือทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเรืองอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 ตรงกับช่วงที่อาณาจักรไบเซนไทน์ หรือโรมันแห่งยุคกลางกำลังเรืองอำนาจในยุโรป บรรดาปราสาทหินจากอารยธรรมขอมเหล่านี้ มีความสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอันวิจิตรงดงาม
เที่ยวปราสาท แห่งอีสาน ตามรอยอารยธรรมโบราณ
ปราสาทหินพิมาย ใหญที่สุดในประเทศไทย
เป็นปราสาทขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทสไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่มักจะหันไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหินพิมายมีแบบแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ ภายในบริเวณปราสาทหินมีโบราฦณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง
การเดินทาง ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จากตัวอำเภอเมืองเข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ประมาณ 50 กม. เลี้ยวขวาเข้าบ้านตลาดแค สุ้ทางหลวงหมายเลข 206 ไปอีกประมาณ 10 กม.
ปราสาทพนมวัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย
เป็นปราสาทขอมที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเดิมก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงได้สร้างอาคารหินซ้อนทับลงไป จากจารึกที่ค้นพบเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “เทวาศรม” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน
การเดินทาง ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนสายโคราช-ขอนแก่น) ประมาณ 15 กม. ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางเดียวกับวัดหนองจอก ตรงไปอีกประมาณ 8 กม.
ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทสีชมพูบนยอดภูเขาไฟ
เป็นปราสาทหินที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สวยงามด้วยภาพแกะสลักลวดลายรุปเทพเจ้าและเรื่องราวทางศาสนา ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนภูเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ ที่นี่มีปรากฏสำคัญทางธรรมชาติเกิดขึ้น 4 ครั้งต่อปี คือ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นและตก จะส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ขององค์ปราสาท ในวันที่พระอาทิตย์ขึ้น 3-5 เมษายน, 8-10 กันยายน ในวันที่พระอาทิตย์ตก 5-7 มีนาคม, 6-8 ตุลาคม ของทุกปี เป็นความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน
การเดินทาง ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) และทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาแป๊กก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปราสาทเมืองต่ำ มองจักรวาลตามจักรวาลคติ
ตั้งอยู่ ณ พื้นราบเบื้องล่างของเขาพนมรุ้ง สร้างร่วมสมัยเดียวกัน คือราวในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตามคติศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เพื่อเป็นศาสนาสถานของชุมชน ลักษณะสถาปัตยกรรมของปราสาทนี้ก่อสร้างด้วยฝีมือช่างในระดับช่างหลวง ไม่ด้อยกว่าปราสาทพนมรุ้ง แผนผังของปราสาทสร้างได้สัดส่วนลงตัวตามจักรวาลคติ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ที่แสดงให้เป็นว่าจักรวาลเป็นอย่างไร
การเดินทาง ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ชัยประโคน) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2075
ปราสาทศีขรภูมิ
ทับหลังศิวนาฏที่งดงามที่สุดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 สันนิษฐานว่าสร้างเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยมีทับหลังจำหลักเป็นรูปศิวนาฏราชที่งดงามที่สุด ภายในพุทธศตวรรษที่ 22-23 ถูกดัดแปลงให้เป็นพุทธศาสนสถาน เนื่องจากพบศิลาจารึกอักษรอีสาน ภาษาไทย-บาลี
การเดินทาง ปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์-ศีขรภูมิ)
กลุ่มปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนตู๊จ ปราสาทตาเมือน
ทั้ง 3 ปราสาทหินนี้ อยู่ใกล้เคียงในกิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ มีตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุด สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน ปราสาทตาเมือนตู๊จ เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการค้นพบศิลาจารึก 1 หลัก เป็นศิลปะขอมแบบบายน สร้างด้วยศิลาแลง ทับหลังที่นี่มีลายสลักก้านขดและลายใบไม้ม้วนที่สวยงาม
การเดินทาง กลุ่มปราสาทตาเมือน ใช้ทางหลวงหมายเลข 214 ต่อด้วย 2121 จนถึงทางแยกที่บ้านตาเมียง จะพบปราสาทตาเมือน ไปอีกประมาณ 2 กม. จะพบปราสาทตาเมือนตู๊จ และถัดไปอีก 200 เมตร จะพบปราสาทตาเมือนธม
ปราสาทหินบ้านพลวง รอยจำหลักแปลกตาแห่งอดีตกาล
เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นปราสาทหลังเดี่ยวขนาดเล็ก แต่ฝีมือการสลักหินปราณีตงดงาม มีทับหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ พบว่ามีการสลักรูปสัตว์ป่าหลายชนิดที่ไม่พบในปราสาทขอมแห่งอื่นๆ อย่างเช่น กระรอก หงส์ ลิง แรด และจระเข้ เป็นต้น
การเดินทาง ปราสาทหินบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 สายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม มีทางแยกซ้ายมือที่หลักกิโลเมตร 34-35
ปราสาทภูมิโปน
เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมร ทีมีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13
การเดินทาง ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) อีก 10 กิโลเมตร
ปราสาทสระกำแพงใหญ่ พิศวงรูปสลักพระนารายณ์ และพระลักษมี
สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูอายุราวพุทพศตวรรษที่ 16 มีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์เหนือพระยาอนันตนาคราช และมีสตรี 5 คน นั่งอยู่ปลายพระบาท สันนิษฐานว่าหนึ่งในนั้นคือ พระลักษมี ที่มีพระนารายณ์ใช้ปลายพระบาทแตะไว้ที่ถันของนางเป็นเชิงหยอกล้อ ซึ่งไม่พบเห็นที่อื่น
การเดินทาง ปราสาทาระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพร จังหวัดศรีสะเกษ ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์-ศีขรภูมิ)
ข้อมูลและภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคอีสาน / wiki / gotoknow.org เรียบเรียงโดย Travel MThai
No comments:
Post a Comment