จังหวัดสุพรรณบุรี
จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 107 กิโลเมตร จังหวัดที่อยู่ติดกัน (จากทิศเหนือ วนตามเข็มนาฬิกา) ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และกาญจนบุรี
จังหวัดสุพรรณบุรี
คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง
ที่ตั้ง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 107 กิโลเมตร (ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข340) โดยทางรถไฟประมาณ 142 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ วัดเขาขึ้นของพระอาจารย์ธรรมโชติผู้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านบางระ จัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อุทยานแห่งชาติพุเตย บึงฉวาก และมีขนมขึ้นชื่ออย่างสาลี่สุพรรณ
สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในสุพรรณบุรี
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ.1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง23.46 เมตร รอบองค์11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น7-9 ค่ำ เดือน5 และเดือน12 ตรงข้ามวิหารวัดมีร้านขายสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองหลายร้านให้แวะเลือกซื้อ ด้านหลังวัดมี “คุ้มขุนช้าง” ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่กว้างขวาง ตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ขึ้นไปบนเรือนจะเห็นฉากภาพวาดตัวละครขุนช้างสำหรับให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึก บนเรือนแต่ละห้องมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆไม่ว่าจะเป็นฉากกั้นหรือถ้วยโถโอชามเก่าแก่แบบต่างๆ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
อยู่ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ300 เมตร เขตตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุในองค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน“เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
วัดพระลอย
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลรั้วใหญ่ เลยวัดแคไปไม่ไกล สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน(แม่น้ำสุพรรณ) จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ที่ปรักหักพังสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างโบสถ์ใหม่ครอบ และยังมีอุโบสถจตุรมุขใหญ่ สูงเด่น สง่างาม ประดิษฐานพระพุทธนวราชมงคล สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่างๆ เก่าแก่มาก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดเป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ มีฝูงปลาหลายชนิดผู้มาเที่ยวชมสามารถให้อาหารปลาได้ ถือเป็น อุทยานมัจฉา อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
วัดไผ่โรงวัว
ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ43 กม. หรือจากกรุงเทพฯ ประมาณ70 กม. ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยกลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไป นิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาะร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้แก่ “สังเวชนียสถาน4 ตำบล” คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน กับงานประติมากรรมหรือภาพปั้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ รวมทั้งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก “ฆ้องและบาตร” ใหญ่ที่สุดในโลก “พระวิหารร้อยยอด” รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย
วัดพระนอน
ตั้งอยู่ตำบลพิหารแดง เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมี อุทยานมัจฉา อยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณวัดจึงร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด และยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ2 เมตร ลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งในUnseen Thailand อีกด้วย
บึงฉวาก
บึงฉวากอยู่ในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ที่เกิดการทับถมของตะกอนดินโคลน จึงถูกแยกตัวออกมาเป็นบึงใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศอันหลากหลาย ภายในพื้นที่กว่า1,700 ไร่ อุดมไปด้วยพรรณไม้น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะบัวแดง ในยามเช้าจะชูช่อบาน อวดโฉมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มาตั้งแคมป์พักได้ ด้วยสภาพแวดล้อมของบึงที่มีความเหมาะสมและสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้น้ำนานาชนิด เช่น บัว กก อ้อ ธูปฤาษี ผักตบ สาหร่ายหลากชนิด เป็นต้น จึงเป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำนกทุ่งประมาณ70 ชนิด มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพที่ผ่านมาอาศัยหรือพักพิงชั่วคราว อาทิ อีโก้ง นกกาบบัว และนกอพยพอย่างนกเป็ดแดงที่มาในช่วงฤดูหนาว นกปากห่างที่มาในช่วงเดือนตุลาคม นกคูท และเป็ดเปียที่จัดเป็นนกอพยพที่หาดูได้ยากก็เคยพบเห็นที่นี่ รวมถึงเป็ดแดงจำนวนนับหมื่นๆ ตัวในช่วงฤดูหนาว นอกนั้นก็มีเป็ดคับแค เป็ดผี นกอีโก้ง นกอีแจว นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกระยาง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทางการจึงประกาศให้พื้นที่ของบึงฉวากเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า นอกจากนี้บึงฉวากยังเป็นแหล่งรวมปลานานาพันธุ์ เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสลิด ฯลฯ ปัจจุบันบึงฉวากได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามสนธิสัญญาแรมซาร์ เมื่อปี พ.ศ.2541 และประกาศเป็นเขตห้ามล่าเมื่อปี พ.ศ.2525 บึงฉวากจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางเกษตร ทั้งยังได้จัดสรรพื้นที่โดยรอบบึงฉวากเพื่อการศึกษาและวิจัย อาทิ สวนรวมพันธุ์ไก่ บ่อจระเข้น้ำจืด อุทยานผักพื้นบ้าน สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ
ตลาดร้อยปี ตลาดสามชุก
เป็นตลาดห้องแถวไม้2 ชั้นขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี(ท่าจีน) และรายล้อมด้วยบรรยากาศของบ้านเรือนรวมถึงเรื่องราวของผู้คนในอดีต โดยแทบไม่มีการดัดแปลงเสริมแต่ง ย้อนอดีตกลับไปยุคสมัยที่ตลาดสามชุกเฟื่องฟู ยุคนั้นชาวบ้านจะนำของพื้นเมือง รวมทั้ง เกลือ ฝ้าย แร่ สมุนไพร มาแลกเปลี่ยนซื้อขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ ต่อมาเมื่อริมแม่น้ำสุพรรณ กลายเป็นแหล่งทำนาที่สำคัญ มีโรงสีไฟขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง ตลาดสามชุกก็กลายเป็นตลาดข้าวที่สำคัญ มีการค้าขายกันอย่างคึกคัก ทำให้ตลาดสามชุกไม่จำกัดบริเวณอยู่เฉพาะริมน้ำ แต่ยังขยายมาถึงริมฝั่ง โดยแต่ละปีมีการเก็บภาษีได้จำนวนมาก พร้อมๆกับมีการตั้งนายอากรคนแรก ชื่อ “ขุนจำนง จีนารักษ์” ช่วงเวลาเฟื่องฟูของตลาดสามชุกกินเวลานานหลายสิบปี แต่หลังจากที่มีการตัดถนนผ่านสามชุก ผู้คนเปลี่ยนไปใช้ถนนเป็นเส้นทางสัญจรมากขึ้น ส่งผลให้ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการค้าที่ตลาดสามชุกเริ่มซบเซา แต่ตลาดสามชุกก็ยังคงดำเนินวิถีของตลาดห้องแถวไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ วิถีชีวิตและลักษณะทางกายภาพของชุมชนตลาดสามชุกมีกาลเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามานับร้อยปี เหตุนี้ประชาคมชาวตลาดสามชุกจึงได้มีการปรับปรุง ฟื้นฟู และร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ของตลาดสามชุกไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพื่อให้ตลาดสามชุกกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
อนุสรณ์ดอนเจดีย์ พระนเรศวร
พระนเรศวรทรงแสดงฝีมือในการรบ ปีพศ.๒๑๑๗ พระเจ้าหงสวาดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ ราชบุตรชื่อมังเอิญหรือมังไชยสิงห์ ได้ขึ้นครองราชย์ต่อพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง ตามธรรมเนียมประเพณีแล้วบรรดาประเทศราชที่เป็นเมืองขึ้นจะต้องเดินทางไปถวายบังคมกษัตริย์องค์ ใหม่แสดงความจงรักภักดีรวมทั้งไทยด้วย แต่ว่าเมืองคังมีเจ้าฟ้าไทยใหญ่เป็นผู้ครองนครไม่เดินทางมาร่วม หมายถึงกระด้างกระเดืองคิดแข็งเมือง ทางพระเจ้านันทบุเรงได้สั่งให้ยกทัพไปปราบเมืองคัง เพื่อแสดงอำนาจบารมี โดยมีการจัดทัพเป็น ๓ กองทัพคือ ๑ กองทัพพระมหาอุปราช เป็นโอรสของพระเจ้านันทบุเรง มีชื่อเดิม มังสามเกียด หรือมังกะยอชะวา ๒ กองทัพพระสังกะทัต เป็นราชบุตรของพระเจ้าตองอู มีชื่อเดิม นัดจินหน่อง ๓ กองทัพสมเด็จพระนเรศวร เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชากษัตริย์ไทย เมืองคังมีทำเลอยู่บนเขาทางขึ้นก็เป็นซอกเขา ยากต่อการเข้ายึด เริ่มการศึกทาง พระมหาอุปราชเข้าตีก่อนและแพ้ลงมา ครั้งที่สองให้พระสังกะทัตเข้าตีก็ไม่สำเร็จ ต่อไปเป็นหน้าที่ของสมเด็จพระนเรศวร ด้วยทรงพระปรีชาสามารถจึงตีเมืองคังได้สำเร็จและจับตัวเจ้าฟ้าไทยใหญ่มาถวายพระเจ้านันทบุเรงอีกด้วย การศึดครั้งนี้สร้างความอับอายให้พระเจ้านันทบุเรงมาก เพราะต้องการให้ราชโอรสชนะ ใช่แต่เรื่องการศึกเท่านั้นในยามว่างก็มีการนำไก่ชนมาตีกัน ระหว่างไก่ของสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราช ผลคือไก่ชนของพระนเรศวรตีชนะทำเอาพระมหาอุปราชเสียหน้าจึงตรัสว่า“ ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” พระนเรศวร ทรงได้ยินดังนั้นจึงตรัสกลับไปว่า“ ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะพนันเอาเดิมพันเลย ถึงจะชนเอาบ้านเอาเมืองก็ได้” ( ถ้าลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรทรงขับไล่เขมร การตีเมืองคัง ได้สำเร็จ จนถึงการชนไก่ จะเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระบารมีเหนือกว่า ทางฝ่ายพม่ามากนัก)
สวนนกท่าเสด็จ (หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ)
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ15 กม. ตามทางสายสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์ (ทางหลวงหมาย-เลข322) จากตัวเมืองเดินทางไปยังสี่แยกแขวงการทาง แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานสูงไปจนถึงสามแยก ตรงไปอีกประมาณ10 กม. เลี้ยวขวาไปอีก2 กม. สวนนกแห่งนี้ ตั้งอยู่ในที่ดินของนางสาวนก พันธุ์เผือก และนายจอม-นางถนอม มาลัย ซึ่งมีนกอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นตัว เช่น นกปางห่าง นกยาง นกกาน้ำ นกกาบบัว นกกระสา นกแขวก และนกช้อนหอย เป็นต้น ในเวลากลางวันจะมีนกให้ชมอยู่บ้าง ส่วนในตอนเย็นจะมีนกบินกลับรังจนดูมืดฟ้ามัวดิน นกเหล่านี้ได้มาอาศัยอยู่ในสวนนี้นับ10 ปีแล้ว ขณะนี้กรมป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำสวนนกแห่งนี้ และจัดตั้งเป็นหน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ ช่วงที่มีนกมาก คือ ในช่วงเดือนตุลาคม
การเดินทาง
รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้หลายเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ1 ชั่วโมง ดังนี้
1.
จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี หรือจากกรุงเทพฯ ผ่านนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ107 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ115 กิโลเมตร
3. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ132 กิโลเมตร
4. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเดิมบางนางบวช ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ228 กิโลเมตร
5. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดอ่างทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ150 กิโลเมตร
6. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม อำเภอกำแพงแสน ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ164 กิโลเมตร
หรือใช้ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1543
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางออกจาก สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร2 ไปจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0 2936 2852-66 และมีรถออกจาก สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาประมาณ1 ชั่วโมง30 นาที สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ โทร.0 2894 6122 สถานีขนส่งสุพรรณบุรี โทร.0 3552 2373 และ บริษัท สุพรรณทัวร์ โทร.0 2884 9522 (สุพรรณบุรี) โทร.0 3550 0817 รถออกจากกรุงเทพฯ เที่ยวแรก06.00 น. เที่ยวสุดท้าย18.30 น. ออกจากสุพรรณบุรี เที่ยวแรก04.00 น. เที่ยวสุดท้าย17.45 น. หรือที่เว็บไซต์www.transport.co.th
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปสถานีรถไฟจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน วันละ1 เที่ยว จากกรุงเทพฯ เวลา16.40 น. ถึงสุพรรณบุรี19.40 น.และเที่ยวกลับจากสุพรรณบุรี เวลา04.40 น. ถึงกรุงเทพฯ08.10 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.0 2220 4334, 0 2621 8710, 1690 สถานีรถไฟสุพรรณบุรี โทร0 3551 1950, 0 3552 1799 หรือที่เว็บไซต์www.railway.co.th
เทศกาลและงานประเพณี
งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์
จัด ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอ ดอนเจดีย์ มีการแสดงยุทธหัตถีชนช้างเทิดพระเกียรติ การออกร้านจำหน่ายสินค้าของ อำเภอและหน่วยราชการต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงมหรสพ งานนี้จะจัดในช่วงปลาย เดือนมกราคม ระยะเวลาประมาณ9 วัน โดยจะกำหนดให้ตรงกับวันที่25 มกราคม ของทุกปี
ประเพณีบุญบั้งไฟ
จัดขึ้นในหมู่ชาวไทยพวน ไทยเวียง ตรงกับวันขึ้น15 ค่ำ เดือน6 เพื่อเป็นการบูชาเทวดาให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดเตรียมบั้งไฟแห่แหนไปวัดเพื่อยิงบั้งไฟ ปัจจุบันยังคงหาดูได้ใน ตำบลต่างๆ เช่น ตำบลบ้านโข่ง บ้านขาม ดอนคาในอำเภออู่ทอง และ ตำบลวัดโบสถ์ ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า
งานเทศกาลทิ้งกระจาด
กำหนดจัดงานหลังสารทจีนไป3 วัน เริ่มวันที่18 เดือน7 ของจีน ซึ่ง ตรงกับเดือน9 ของไทย ราวเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี สถานที่จัดงานอยู่ในเขตเทศบาล ตั้งแต่สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จนถึงด้านหลังเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี
ประเพณีแต่งงานของไทยโซ่ง
พิธีแต่งงานดั้งเดิมของไทยโซ่ง หลังจากที่ได้รับอนุญาตจาก ฝ่ายเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวจะจัดงานในวันขึ้น1 ค่ำ จนถึง 13 ค่ำ ของเดือน4 เดือน6 และเดือน12 ยังมีจัดในหมู่ชาวไทยพวนที่ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง ตำบลบ้านดอน ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลหนองแดง อำเภออู่ทอง
No comments:
Post a Comment