ย้อนรอยฆาตกรรม 'เชอรี่ แอน' คดีประวัติศาสตร์ 4แพะ คุก6ปี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย หลังเกิดกรณีพนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร จ.นครพนม ทำสำนวนคดี นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครูผิดพลาด เป็นเหตุให้ถูกศาลตัดสินจำคุกนาน 1 ปี 6 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2548 และถูกจำคุกตั้งแต่เมื่อปี 56 ก่อนได้รับอภัยโทษออกมาเมื่อปี 2558 ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางพันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงว่ามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงอย่างไรจะได้มีการดำเนินตามหน้าที่ต่อไป
ระหว่างนี้ ทีมข่าว MThai News ขอพาทุกคนย้อนรอยฆาตกรรมคดีแพะที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทยนั่นคือ คดีฆาตกรรม เชอร์รี่แอน ดันแคน ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีที่แล้ว วันที่ 22 กรกฎาคม 2529 น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน เด็กหญิงวัย 16 ปี ลูกครึ่งไทยอเมริกัน หายตัวไปหลังจากหลังเลิกเรียน ขณะเดินทางกลับมาที่บ้าน ซึ่งญาติได้เข้าแจ้งความคนหายที่ สน.พระโขนง
วันเวลาล่วงเลยไป 3 วัน มีคนพบศพเชอร์รี่แอน ที่บริเวณ ป่าดงแสม ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งประเด็นการเสียชีวิตว่าอาจจะถูกคนร้ายลวงมาฆ่าชิงทรัพย์และข่มขืน กระบวนการสอบสวนเริ่มจากการไล่เรียงขุดคุ้ยข้อมูลประวัติของเชอร์รี่ แอน ประติดประต่อเกิดเป็นแผนโยงใยไปยังผู้คนใกล้ชิด แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ซึ่งสื่อในขณะนั้นเกาะติดคดีนี้ชนิดที่กัดไม่ปล่อย ถามถึงความคืบหน้าทุกวัน
หนึ่งเดือนถัดมา เจ้าหน้าที่ตำรวจพุ่งเป้าไปที่เสี่ยวินัย ผู้อุปการะและมีความสัมพันธ์พิเศษกับเชอร์รี่แอน จากการสอบสวนพบว่าทั้งคู่เคยมีปัญหาไม่ลงรอยกัน เนื่องจากเชอร์รี่แอนมีหนุ่มรุ่นเดียวกัน มาชอบพอ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยานปากสำคัญ เป็นคนขับรถสามล้ออ้างว่าเห็นชายกลุ่มหนึ่งอุ้มเชอร์รี่แอนออกมาจากบ้านของเสี่ยวินัย
ซึ่งต่อมาชายกลุ่มดังกล่าวถูกจับกุมพร้อมเสี่ยวินัย เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงการจับกุม ประกอบด้วย 1. นายรุ่งเฉลิม หรือเฮาดี้ กนกชวาลชัย 2. นายพิทักษ์ ค้าขาย 3. นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม และ 4. นายธวัชชัย กิจประยูร ในตอนนั้นสังคม สื่อมวลชนรุมประณามการกระทำของผู้ต้องหา ตกเป็นจำเลยของสังคม
ต่อมาอัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหา ส่วนเสี่ยวินัยรอดเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้ง 4 แต่ญาติเดินหน้าต่อสู้คดี โดยการยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่ให้ขังระหว่างรอฎีกาอีก 6 ปี จนกระทั่งในปี 2536 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีความผิดใด ๆ แต่เรื่องที่น่าเศร้าสำหรับคดีนี้คือ นายรุ่งเฉลิม เสียชีวิตในคุกด้วยโรคหัวใจวาย ก่อนที่ศาลจะตัดสิน ส่วนนายพิทักษ์และนายธวัชชัย หลังถูกปล่อยตัวออกมาก็เสียชีวิตจากโรคที่ติดมาจากเรือนจำ ส่วนนายกระแสร์ก็พิการ เนื่องจากกระดูกสันหลังร้าว
จากการรื้อคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามสามารถจับกุมคนร้ายตัวจริงได้ คือนายสมัคร ธูปบูชาการ และนายสมพงษ์ บุญฤทธิ์ ผู้ต้องหารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนผู้จ้างวานฆ่าเป็นสาวตระกูลดัง ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อสู้คดีทั้งชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามลำดับ กระทั่งศาลฎีกายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
สุดท้ายคดีเชอร์รี่แอน 4 ผู้ต้องหาตกเป็นจำเลยของสังคมเป็นแพะติดคุกกว่า 6 ปี ซึ่งศาลพิพากษาสั่งให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายรวม 38 ล้านบาท คดีส่งผลให้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ส่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งที่ 658/2542 ลงโทษข้าราชการตำรวจที่มีส่วน กระทำผิดวินัยร้ายแรง ปั้นพยานเท็จ คนขับสามล้อที่มาให้การเท็จ ศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี ทั้งนี้คดีเชอร์รี่แอนไม่ใช่เพียงเป็นคดีประวัติศาสตร์แต่ยังถือเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของวงการตำรวจไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตามคดีจับแพะในเมืองไทย ไม่ได้มีแค่ 2 คดีข้างต้น แต่ยังรวมไปถึงคดีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา หลังมีชายหนุ่มคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีหลอกให้เด็กหญิง 8 ขวบกินน้ำอัดลมผสมสารเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ก่อนจะล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง ทำให้หนูน้อยมีเลือดออกในช่องท้อง และเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ในพื้นที่ ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง เนื่องจากเขามีพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่สุด
กระทั่งผลการสอบสวนในคดีทั้งหมดคลี่คลายเมื่อผู้ต้องหาตัวจริง ซึ่งเป็นพ่อของเด็กรับสารภาพในภายหลังว่าตนเป็นคนลงมือก่อเหตุ จนทำให้หนุ่มคนดังกล่าวรอดพ้นจากคดีอุกฉกรรจ์ดังกล่าวไปในที่สุด แต่กระนั้นเขาก็ต้องถูกจำคุกนาน 1 เดือน และถูกปล่อยตัวได้รับอิสระภาพเมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
No comments:
Post a Comment